วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ใบงานที่ 3 เรื่อง อาหารออแกนิค







ขอบคุณ http://static.tlcdn4.com/data/6/pictures/0213/09-11-2012/p176q3rkee1jkt1n9skm1672kbj3.jpg


อาหารออแกนิค


ในปัจจุบันคนเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีต่างๆ มากกว่า 15,000 ชนิด ที่มาจากอาหาร น้ำดื่ม อากาศ และสิ่งแวดล้อม ด้วยพิษภัยของสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ทำให้ร่างกายของเราสะสมสารพิษ และส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันพบว่าสิ่งแวดล้อมมีผลต่อสุขภาพอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งดูได้จากอัตราของการเกิดโรคและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่ผ่านมา เพราะเด็กชาวอเมริกันทุกวันนี้จะเป็นโรคมะเร็ง หอบหืด และโรคออทิสติกกันมากขึ้น โดยอัตราส่วนของเด็กที่เป็นออทิสติกนั้นเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 : 2,000 คน เป็น 1 : 66 คน ด้วยเหตุผลนี้เอง อาหารออแกนิคจึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของคนรักสุขภาพ เพราะเป็นอาหารที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง






อาหารออแกนิค หรือ อาหารออร์แกนิค หรือ อาหารออร์แกนิก (Oranic Food) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “อาหารเกษตรอินทรีย์” หรือ “อาหารอินทรีย์” คือ อาหารที่ผ่านการผลิตทางการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี หรือวัตถุสังเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น (รวมไปถึงเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ตัดต่อทางพันธุกรรม) กระบวนการผลิตไม่มีการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ก่อนการปลูกจะต้องเตรียมหน้าดินก่อนด้วยวิธีธรรมชาติ ทุกขั้นตอนการผลิตจะไร้สารปนเปื้อนที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือมนุษย์ จะไม่ผ่านการฉายรังสี ไม่เพิ่มเติมสิ่งปรุงแต่งลงไปในอาหาร ถ้าเป็นอาหารที่มาจากการทำปสุสัตว์ก็จะต้องไม่มีการใช้สารปฏิชีวภาพ ไม่ใช้สารเร่งฮอร์โมน และต้องเลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารที่มีสุขอนามัย
ในปัจจุบันสินค้าออแกนิค หรือผลิตภัณฑ์ออแกนิค จะถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามสัดส่วนของส่วนผสมและวัตถุดิบที่เกิดจากการเพาะปลูกด้วยกระบวนการออแกนิค ตั้งแต่ 75-100% โดยการควบคุมและการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ออแกนิคมีราคาสูงกว่าทั่วไป เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงและมีข้อจำกัดในด้านการควบคุมคุณภาพ


อาหารออแกนิค

  1. ส่วนประกอบทุกอย่างล้วนมากจากธรรมชาติ โดยอาหารอาหารออแกนิคจะไม่มีการใช้สารสังเคราะห์ใดๆ ในการเพาะเลี้ยงหรือการเพาะปลูกเลย ไม่ว่าจะเป็นผักหรือเนื้อสัตว์ก็จะถูกเลี้ยงและเจริญเติบโตมาด้วยอาหารจากธรรมชาติล้วนๆ ถ้าเป็นสัตว์ก็จะเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ไม่มีการขุนหรือให้อาหารสังเคราะห์ใดๆ เพื่อให้สัตว์โตเร็วแบบที่นิยมทำกันในอุตสาหกรรมใหญ่ ส่วนผักก็จะเป็นการปลูกบนดินแบบบ้านๆ ไม่ใส่วัตถุสังเคราะห์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ใช้แต่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกจากธรรมชาติในการเพาะปลูก ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่นำมาเพาะปลูกจะต้องไม่มีตัดต่อพันธุกรรม และต้องมีการเตรียมหน้าดินก่อนการเพาะปลูกด้วยวิธีธรรมชาติ คือ จะต้องทำให้ปลอดสารพิษไม่น้อยกว่า 3 ปี เหล่านี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการสร้างอาหารแบบธรรมชาติอย่างแท้จริง 100% มีกลิ่นหอมตามแบบธรรมชาติ ทุกขั้นตอนในการปลูกและการแปรรูปจะต้องอยู่ในมาตรฐานที่ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ส่วนประกอบทุกอย่างจึงสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสารพิษตกค้างหรือสารก่อมะเร็ง
  2. อาหารอาหารออแกนิคจะไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ เลย ส่วนประกอบทุกอย่างจะต้องมาจากธรรมชาติ เพราะถ้ามีการใช้สารเคมีก็จะไม่ถือว่าเป็นอาหารออแกนิค ซึ่งการไม่ใช้สารเคมีที่ว่านั้นหมายถึง การไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี สารกระตุ้น หรือสารเร่งการเจริญเติบโตกับสัตว์ แต่ก็มีบางเจ้าในที่ใช้สารเคมีเพียงเล็กน้อยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งอาจจะเรียกว่า “95% ออแกนิค” หรือกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไป แต่ถ้าต่ำกว่า 70% จะไม่ถือว่าเป็นอาหารออแกนิคครับ ส่วนผักไฮโดรโปนิกส์และผักปลอดสารพิษก็ไม่ถือว่าเป็นออแกนิคครับ เพราะผักปลอดสารพิษ คือ ผักที่ไม่ได้ปลอดการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในระหว่างการเพาะปลูก แต่เป็นผักที่ปลอดสารพิษในช่วงตอนเก็บเกี่ยว ส่วนผักไฮโดรโปนิกส์ คือ ผักไร้ดิน ผักประเภทนี้ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งสารเคมีอยู่ เพราะผักไร้ดินจะไม่มีดินที่เป็นตัวสะสมธาตุอาหาร แต่จะเปลี่ยนจากดินเป็นน้ำให้เป็นตัวสะสมธาตุอาหารแทน
  3. ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิต เพราะอาหารออแกนิคนั้น นอกจากจะมุ้งเน้นให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีแล้ว จุดประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการช่วยลดมลพิษให้กับธรรมชาติ เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการใช้สารเคมีต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี หรือสารเร่งการเจริญเติบโตต่างๆ นั้นจะก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในดิน ในน้ำ และในอากาศ ซึ่งกว่าจะย่อยสลายไปได้บางทีก็อาจใช้ระยะเวลาเป็นสิบๆ ปี ซึ่งวิธีการปลูกแบบธรรมชาตินี้เองจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยฟื้นฟูธรรมชาติที่เสียไป เพราะนอกจากจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษแล้ว ยังช่วยลดมลพิษต่างๆ ได้อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม อาหารออแกนิคก็มิใช่อาหารที่สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งเจือปนหรือสิ่งแปลกปลอมใดๆ หากแต่มีสารเจือปนที่เป็นธรรมชาติ อย่างแบคทีเรียที่ไม่ใช่สารแปลกปลอมที่เกิดจากการสังเคราะห์ของมนุษย์ แต่เป็นสิ่งแปลกปลอมทางธรรมชาติที่จะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำงานได้ตามปกติ สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย รวมไปถึงแบคทีเรียบางประเภทที่ช่วยทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายเป็นไปอย่างสมดุล


ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่จำหน่ายในประเทศไทย


กรีนเนทได้ทำการสุ่มตัวอย่างร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย 16 ร้านค้า เพื่อสำรวจสินค้าออร์แกนิคที่วางจำหน่ายในร้าน (ทำการสำรวจช่วงมกราคม – กันยายน 2554) พบว่า
  • ซุปเปอร์มาร์เก็ตมีการวางสินค้าออร์แกนิคเฉลี่ย 48 สินค้า/ร้าน ในขณะที่ร้านสุขภาพเดี่ยวมีสินค้าออร์แกนิคจำหน่ายเฉลี่ย 15 สินค้า/ร้าน โดยร้านที่มีสินค้าออร์แกนิคจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ Top Supermarket เซนทรัล ชิดลม (176) Villa Market สัมมากร (67) Lemon Farm แจ้งวัฒนะ (64) Food Hall Siam Paragon (40) และFood Land ลาดพร้าว (42)
  • ในส่วนของประเภทสินค้า พบว่ามีสินค้าออร์แกนิควางจำหน่ายทั้งหมด 432 รายการ โดยประเภทสินค้าที่มีการวางจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืช (66) เครื่องดื่ม (56) ผักสด (45) เครื่องปรุงอาหาร (42) และขนม (32)
  • เกือบ 58% ของสินค้าออร์แกนิคที่วางจำหน่ายเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ที่เหลือเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ  แต่ถ้าไม่นับรวมผักและผลไม้สด (ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ) สัดส่วนของสินค้าออร์แกนิคที่นำเข้าจากต่างประเทสจะสูงถึง 85%
  • แบรนด์ที่มีสินค้าออร์แกนิคจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ Amy’s (30) Healthy Mate (22) Earth’s Best Organic (18) Healthy Valley (17) และ Xongdur (16) ซึ่งเป็นแบรนด์ของผู้ผลิตจากต่างประเทศ (สินค้านำเข้าถึง 3 แบรนด์)
  • เกือบ 91% ของสินค้า (393 รายการ) ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีเพียง 9% เท่านั้นที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นสินค้าออร์แกนิค โดยไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
  • ในสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เกือบ83% จะใช้ตรารับรองมาตรฐานต่างประเทศ มีเพียง 17% ที่ใช้มาตรฐานของประเทศไทย คือ Organic Thailand และ/หรือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)  โดยตรารับรองเกษตรอินทรีย์ที่ใช้มากที่สุด คือ ตรารับรองของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA)



ประโยชน์ของอาหารออแกนิค



  • การรับประทานอาหารออแกนิค นอกจากจะช่วยต้านโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ภูมิแพ้ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ยังทำทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดีในปริมาณที่สูงกว่าอาหารทั่วไป เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการยังคงความสมบูรณ์ และมีความสดได้นานกว่าอาหารทั่วไป

  • หากรับประทานอาหารอาหารออแกนิคตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคทั้งหลาย เช่น หอบหืด ออทิสติก ภูมิต้านทานบกพร่อง โรคมะเร็ง ที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยก็จะลดลงและยังช่วยทำให้คุณแม่มีสุขภาพที่แรงอีกด้วย

  • อาหารออแกนิคจะมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารทั่วไป โดยพืชผักที่ปลูกโดยวิธีออแกนิคจะมีวิตามินซีสูงกว่าพืชที่ปลูกทั่วไปถึง 27% มีธาตุเหล็กมากกว่า 21% และมีแมงกานีสมากถึง 29% เลยทีเดียว (ผลการวิจัยโดย The Soil Association ประเทศอังกฤษ) นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์และเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการระหว่างอาหารออแกนิคกับอาหารในซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไป (ทดสอบโดยการเลือกใช้ แอปเปิ้ล, ลูกแพร์, มันฝรั่ง, ข้าวโพด, ข้าวสาลี) และพบว่าปริมาณของแร่ธาตุในอาหารออแกนิคจะมีมากกว่าอาหารทั่วไปดังนี้ มีแคลเซียมมากกว่า 63%, ธาตุเหล็กมากกว่า 73%, ฟอสฟอรัสมากกว่า 91%, โพแทสเซียมมากกว่า 125%, แมกนีเซียมมากกว่า 118%, โมลิบดีนัมมากกว่า 178%, สังกะสีมากกว่า 60%, โครเมียมมากกว่า 78% และยังพบว่าสารปรอทซึ่งเป็นสารพิษที่พบได้ในอาหารทั่วไปจะมีปริมาณที่ค่อนข้างสูง แต่กลับพบในอาหารออแกนิคน้อยกว่าอาหารทั่วไปถึง 29% ส่วนงานวิจัยของสมิธ-สแปงเกลอร์ และคณะผู้วิจัย ได้ทบทวนผลการศึกษากว่า 230 ฉบับ ซึ่งเปรียบเทียบสุขภาพของคนที่รับประทานอาหารแอแกนิคกับคนที่รับประทานอาหารทั่วไป ซึ่งทีมนักวิจัยได้พบว่าปริมาณของวิตามินในผลิตภัณฑ์ออแกนิคแทบไม่มีความแตกต่างกัน ยกเว้นฟอสฟอรัสที่อาหารออแกนิคจะมีปริมาณมากกว่าเพียงน้อย ส่วนสารอาหารในกลุ่มโปรตีนและไขมันในนม พบว่า ไม่ว่าจะเป็นนมออแกนิคหรือนมทั่วไปก็มีปริมาณของโปรตีนและไขมันไม่ต่างกัน แต่ในบางการศึกษาก็ระบุว่าในนมออแกนิคจะมีกรดไขมันโอเมก้า3 มากกว่า แต่เนื่องอยากยังมีหลักฐานการศึกษาที่น้อยมาก จึงทำให้ไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน






  • อาหารออแกนิคจำพวกผักและผลไม้ จะมีความเสี่ยงจากยาฆ่าแมลงต่ำกว่าร้อย 30 เมื่อเปรียบเทียบกับพืชผักและผลไม้ทั่วไป ในขณะที่หมูและไก่อินทรีย์นั้นจะมีสารต้านแบคทีเรียน้อยกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป 33% แต่อย่างไรก็ตามเราก็อย่าลืมว่าปริมาณของสารที่ตกค้างซึ่งเกิดจากการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในสินค้าบางชนิดนั้นยังมีค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้นก่อนจะนำผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์มารับประทาน ควรจะล้างให้สะอาดเสียก่อน ไม่ว่าอาหารนั้นจะเป็นอาหารออแกนิคหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั่นเอง
  • อาหารออแกนิคผลิตมาจากกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารป้องกันเชื้อรา หรือแม้แต่ปุ๋ยเคมี
  • อาหารออแกนิคมีรสชาติที่ดีกว่า มีความเป็นธรรมชาติมากกว่าอาหารที่ผลิตจากระบบเกษตรทั่วไปที่มีการใช้สารต่างๆ หรือแม้แต่ในด้านการแปรรูป อาหารออแกนิคก็จะผ่านการแปรรูปน้อยกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อคงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
  • สัตว์ที่เลี้ยงในระบบเกษตรอินทรีย์จะไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเร่งการเจริญเติบโต แม้กระทั่งอาหารที่ใช้ในการเลี้ยงก็จะต้องเป็นอาหารสัตว์ออแกนิค ที่ผลิตจากกระบวนการเกษตรอินทรีย์ โดยไม่มีการใช้สารปรุงแต่ง เช่น สีผสมอาหาร สารกัดบูด จึงทำให้ผลผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนม ไข่ เนื้อสัตว์ จะไม่มีสารสังเคราะห์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้
  • ในการผลิตอาหารออแกนิคแปรรูป จะมีข้อกำหนดห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสารให้สี สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและรส รวมไปถึงกรรมวิธีการแปรรูปก็ต้องเป็นวิธีที่ปลอดภัย ห้ามใช้วิธีการที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การฉายรังสี การฟอกสีให้ขาว การหมักโดยใช้สารเร่ง เป็นต้น
  • เกษตรกรผู้ปลูกจะมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ปลอดภัยจากสารเคมี เพราะในระบบเกษตรอินทรีย์จะไม่มีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายใดๆ เลย

  • ในระบบเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์ ทั้งปศุสัตว์ สัตว์น้ำ และสัตว์ปีก จะให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและสวัสดิการของสัตว์ ให้ความธรรมชาติแก่สัตว์เลี้ยง ไม่กักขังสัตว์ให้อยู่กันอย่างแออัด ไม่กุดอวัยวะหรือทำการทรมานสัตว์ ไม่เร่งการเจริญเติบโตของสัตว์เลี้ยงด้วยวิธีใดๆ และดูแลสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์โดยพิจารณาจากธรรมชาติของสัตว์ จึงทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพอนามัยที่ดี เจริญเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ และมีความเป็นอยู่ที่สมควรแก่อัตภาพ
  • หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรอินทรีย์ก็คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องของดิน น้ำ และอากาศ เกษตรกรต้องจะทำให้ทรัพยากรดินและน้ำได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู
  • ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีต่างๆ จึงทำให้ฟาร์มเกษตรอินทรีย์มีพืชและสัตว์ต่างๆ อยู่หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณพื้นบ้านต่างๆ ที่สามารถนำใช้เป็นอาหารหรือยาได้ รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ ทั้งที่อยู่ใต้ดินและอยู่บนดินหรือตามต้นไม้ต่างๆ เช่น นก ปลา แมลง ไส้เดือน เป็นต้น แม้ว่าส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจเป็นศัตรูพืช แต่ก็มีสัตว์ที่คอยควบคุมแมลงศัตรูพืชเหล่านี้อยู่เช่นกัน เช่น กบ กิ้งก่า แมงมุม เป็นต้น ด้วยความหลากหลายนี้เองจึงทำให้ฟาร์มออแกนิคมีเสถียรภาพจากการรบกวนของโรคและแมลงศัตรูพืช เพราะธรรมชาติจะควบคุมกันเอง

  • การผลิต การขนส่ง และการใช้สารเคมีต่างๆ ทางการเกษตรจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน แต่ระบบเกษตรอินทรีย์ปฏิเสธการใช้สารเหล่านี้ จึงทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง อีกทั้งระบบเกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และฟาร์มเกษตรอินทรีย์ยังช่วยตรึงและเก็บกักคาร์บอนในรูปของอินทรียวัตถุบนดินและใต้ดิน รวมทั้งในชีวมวลต่างๆ ซึ่งทำให้มีก๊าซเรือนกระจกลดลง
  • ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการซื้อสารเคมีหรือยากำจัดแมลงศัตรูพืช และช่วยลดปริมารการนำเข้าของสารเคมีจากต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง
  • เกษตรกรที่ผลิตอาหารออแกนิคจะได้รับการประกันราคาผลผลิต ได้ราคาที่ยุติธรรม ทำให้เกษตรมีรายได้มากขึ้น จึงช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเมื่อเปรียบเทียบกับระบบการเกษตรทั่วไปที่เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้สิน สำหรับผู้บริโภคก็จะได้รับประทานอาหารออแกนิคที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และราคายุติธรรม






ค้าออแกนิค


  • ประเภทของอาหารออแกนิคมีอะไรบ้าง?  ประเภทของอาหารออแกนิคที่พบว่ามีวางจำหน่ายมากที่สุดคือ ผักสด ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากธัญพืช เครื่องดื่ม เครื่องปรุงอาหาร และในรูปของขนมต่างๆ (เกือบ 58% ของสินค้าออแกนิคที่วางจำหน่ายเป็นสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งถ้าไม่นับรวมกับผักผลไม้สดที่ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ สัดส่วนของสินค้าออแกนิคที่นำเข้าจากต่างประเทศจะสูงถึง 85%) โดยแบรนด์ที่มีสินค้าออแกนิคจำหน่ายมากที่สุด คือ Amy’s, Healthy Mate, Earth’s Best Organic, Healthy Valley และ Xongdur
  • สามารถหาซื้ออาหารออแกนิคได้ที่ใดบ้าง? ร้านค้าที่มีสินค้าออแกนิคจำหน่ายมากที่สุดก็คือ Top Supermarket (เซนทรัล ชิดลม), Villa Market (สัมมากร), Lemon Farm (แจ้งวัฒนะ), Food Hall (Siam Paragon), Food Land (ลาดพร้าว) เป็นต้น
  • อาหารออแกนิคที่วางจำหน่ายทั่วไปผ่านการรับรองหรือไม่? เกือบ 91% ของสินค้าออแกนิคจะได้รบการรับรองมาตรฐาน และมีเพียง 9% เท่านั้นที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นสินค้าออแกนิคแต่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และในสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกือบ 83% จะใช้ตราที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศ แต่มีเพียงส่วนที่เหลืออีก 17% ที่ใช้เพียงมาตรฐานของประเทศไทย (Organic Thailand และ/หรือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)) โดยตรารับรองการเกษตรอินทรีย์ที่ใช้มากที่สุด คือตรารับรองของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา 







ธุรกิจ การปลูกผักออแกนิค










ขอบคุณจาก 













1 ความคิดเห็น: